เครื่องวัดระยะเลเซอร์ และเครื่องวัดระดับเลเซอร์
จะซื้อทั้งทีเลือกสีไหนดี เลเซอร์สีเขียว (Green Beam) หรือเลเซอร์สีแดง (Red Beam)
ใครมีเวลาน้อย Hardman ยกท่อนสรุปสั้นมาให้อ่านก่อนเลย
ส่วนใครอยากรู้รายละเอียดเกร็ดความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้
ค่อยๆ อ่านไปจนถึงบรรทัดสุดท้ายเลยนะ
สรุปสั้น
ความแตกต่างระหว่างเลเซอร์สีเขียวกับเลเซอร์สีแดง
1.ความสว่าง (Brightness) - สีเขียวสว่างกว่าสีแดง 4 เท่า
2.ความคมชัด (Sharpness) - สีเขียวมีความคมชัดกว่าสีแดง 30%
3.ระยะการมองเห็น (Visible distance) - สีเขียวสามารถมองเห็นได้ไกลกว่าสีแดง
4.การใช้พลังงาน (Battery Life) - สีแดงประหยัดพลังงานกว่าสีเขียว
5.ราคา (Price) - สีแดงราคาถูกกว่าสีเขียว
ใช้ภายในอาคารเป็นหลัก ไปเลเซอร์สีแดง (Red Beam)
ใช้ภายนอกอาคารเป็นหลัก ไปเลเซอร์สีเขียว (Green Beam)
แม้คุณสมบัติโดยรวม (Overall) เลเซอร์สีเขียวจะดีกว่าเลเซอร์สีแดง
แต่ความแม่นยำ (Accuracy) ในการวัดระยะของทั้ง 2 สีไม่ได้แตกต่างกัน
Hardman มีจำหน่ายทั้ง 2 สี หลายยี่ห้อ หลายขนาด ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน
สามารถเข้ามาดูและทดลองใช้งานที่หน้าร้านได้เลย www.hardman.co.th
ช่างหัวมันส์ Hardman 101 คาบที่ 1
เอาล่ะ จบในส่วนการสรุปสั้นและขายของไปแล้ว ต่อไปนี้จะเป็นความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ หรือ “ช่างหัวมันส์ Hardman 101” นั่นล่ะ
Hardman ก็สงสัยเหมือนเพื่อนๆ หลายคน เรื่องเลเซอร์สีเขียวกับเลเซอร์สีแดง เลยไปหาข้อมูลมาเล่าให้เพื่อนๆ อ่านกัน จากที่เคย “เอ๊ะ!” พอได้รู้แล้วก็ “อ๋อ” เลย
แสงที่เพื่อนๆ มองเห็นไม่ว่าจะมาจากดวงอาทิตย์หรือหลอดไฟเนี่ย จะเรียกว่า "แสงขาว" (White Light) และเมื่อเราใช้ปริซึมทำการหักเหแสง เจ้าแสงขาวก็จะแยกออกมาเป็นแสงอื่นๆอีก 7 สีหลัก คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง
แถบสีนี้เราเรียกว่า "สเปกตรัม" (Spectrum)
ถ้าพูดให้เห็นภาพง่ายๆ เพื่อนๆ ลองนึกภาพรุ้งกินน้ำดูก็ได้ เพราะรุ้งกินน้ำก็คือ สเปกตรัมที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ แต่แทนที่แสงขาว(จากพระอาทิตย์) จะวิ่งผ่านปรึซึมแล้วหักเหเป็นสีอื่น มันกลับวิ่งผ่านละอองน้ำจนเกิดการหักเหแสงนั่นเอง รุ้งกินน้ำจึงมักเกิดช่วงฝนตกแดดออก หรือไม่ก็หลังฝนตกใหม่ๆ
ความยาวคลื่นกับการมองเห็น
แถบสเปกตรัมที่เราเห็นเป็นหลายๆ สี เพราะสีต่างๆ มันมีความยาวคลื่น (Wavelength) ไม่เท่ากันนั่นเอง โดยช่วงความยาวคลื่นที่เพื่อนๆ สามารถมองเห็นได้จะอยู่ที่ 400-700 นาโนเมตร สีม่วงจะมีความยาวคลื่นสั้นที่สุดอยู่ที่ประมาณ 400 นาโนเมตร ส่วนสีแดงจะมีความยาวคลื่นยาวที่สุดอยู่ที่ประมาณ 700 นาโนเมตร
แล้วความยาวคลื่นที่อยู่นอกเหนือจาก 400-700 นาโนเมตรล่ะ มันเป็นยังไง
แสงที่มีความยาวคลื่นไม่ถึง 400 นาโนเมตร เรียกว่า รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet, UV)
ส่วนแสงที่มีความยาวคลื่นเกิน 700 นาโนเมตร เรียกว่า รังสีอินฟราเรด (Infrared, IR)
ซึ่งเพื่อนๆจะไม่สามารถมองเห็นรังสี 2 อย่างนี้ได้ แต่สัตว์บางชนิดสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ เช่น งูบางสายพันธุ์สามารถใช้อินฟราเรดในการล่าเหยื่อ
เพื่อน ๆ ลองสังเกตแถบสเปกตรัมจะเห็นว่า สีเขียว จะอยู่ช่วงกลางๆ ของสเปกตรัมพอดี
เราลองไล่สีของรุ้งกินน้ำกันอีกรอบ ม่วง, คราม, น้ำเงิน, เขียว, เหลือง, แสด, แดง
การไล่สีแบบนี้ก็เรียงตามความยาวคลื่นจากสั้นไปหายาว และสีเขียวก็อยู่ตรงกลางพอดีที่ประมาณ 550 นาโนเมตร
ธรรมชาติของดวงตามนุษย์
เอาเข้าจริงสีเขียวก็เป็นสีที่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด เพื่อนๆ ลองคิดถึงมนุษย์โบราณที่ล่าสัตว์, หาของป่าหรือผลไม้มากิน
ก็อาศัยอยู่ในป่าในเขาที่เต็มไปด้วยสีเขียวทั้งนั้นเลย ซึ่งสีเขียวของพืชเหล่านี้ก็มาจากการสะท้อนแสง (Reflect) ของคลอโรฟิลล์ หรือสารสีเขียวที่พืชใช้สังเคราะห์แสง
นั่นทำให้สีเขียวเป็นสีที่ไวต่อสายตามนุษย์มากที่สุด
แม้สเปกตรัมจะแยกแสงออกมาเป็น 7 สีหลัก แต่ว่าในระบบสีของแสงในระดับสากลจะมีแม่สีเพียง 3 สีเท่านั้น ได้แก่ สีแดง, สีเขียว, และสีน้ำเงิน เราเรียกระบบสีนี้ว่า “RGB” (Red, Green, Blue) สีอื่นๆก็จะเกิดจากการผสมกันของแม่สีเหล่านี้ และเมื่อ 3 สีนี้รวมกันก็จะกลายเป็น “แสงขาว” (White Light) เพื่อนๆ ลองคิดถึงโลโก้ของช่อง 7 ดูสิ นั่นล่ะ RGB
สีต่างๆ มีอยู่มากมายหลายเฉด สายตามนุษย์สามารถรับสีได้มากถึง 10 ล้านสี ขึ้นอยู่กับดวงตาเพื่อนๆ แต่ละคน โดยสีแต่ละสีก็จะให้ความรู้สึกแตกต่างกันไป เช่น สีน้ำเงินให้ความรู้สึกสงบ เยือกเย็น, สีเขียวให้ความรู้สึกชุ่มชื่น กระปรี้กระเปร่า, สีแดงให้ความรู้สึกถึงอำนาจ ความอันตราย และยังเป็นสีที่ดึงดูดสายตามนุษย์มากที่สุด
ทำไมจึงทำเลเซอร์สีแดง
เหตุผลหนึ่งที่บริษัทผลิตเครื่องวัดระยะเลเซอร์ หรือเครื่องวัดระดับเลเซอร์ เลือกใช้เลเซอร์สีแดง (Red Beam) เพราะสามารถมองเห็นได้ชัดและสะดุดตา นอกจากนี้ตัวจ่ายประจุไฟหรือ “ไดโอด” (Diode) ที่เป็นสีแดงยังผลิตได้ง่ายและมีราคาถูกกว่าสีอื่นอีกด้วย จึงทำให้แสงเลเซอร์สีแดงเป็นที่นิยมแพร่หลาย แต่เมื่ออยู่หน้าไซต์งานจริงก็จะพบข้อจำกัดเวลาทำงานกลางแจ้ง เพราะแสงอาทิตย์มักจะกลืนสีแดง ทำให้มองเห็นแสงเลเซอร์ได้ยากขึ้น เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนก็น่าจะเคยเจอปัญหานี้เหมือนกัน
พัฒนาการของ เลเซอร์
จริงๆ แล้วเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาของช่างทั่วโลก ทำให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องวัดระยะ, เครื่องวัดระดับ คิดค้นเทคโนโลยีแสงสีเขียว (Green Beam) ขึ้นมา โดยอาศัยความรู้พื้นฐานเรื่องสเปกตรัมสีกับสายตามนุษย์มาพัฒนา จนตอนนี้ก็มีเครื่องวัดระยะ, เครื่องวัดระดับ ที่ใช้เลเซอร์สีเขียวแพร่หลายในท้องตลาดมากขึ้น และในอนาคตคาดว่าจะเป็นที่นิยมมากกว่าเลเซอร์สีแดง
เลเซอร์สีเขียวถูกพัฒนาให้มีความสว่างมากขึ้น คมชัดมากขึ้น ระยะการมองเห็นไกลขึ้น สามารถใช้งานกลางแจ้งได้ดีขึ้น
โดยรวมดูเหมือนว่าจะดีกว่าเลเซอร์สีแดงไปเสียทุกอย่าง แต่ความจริงแล้วความแม่นยำ (Accuracy) ของทั้งคู่ก็ไม่ได้ต่างกัน
และไดโอดที่ใช้ผลิตเลเซอร์สีเขียวยังมีราคาสูงกว่าสีแดงอยู่พอสมควร นั่นเป็นเหตุผลให้เครื่องวัดระยะ, เครื่องวัดระดับ ที่ใช้เลเซอร์สีเขียวจึงมีราคาแพงกว่าเลเซอร์สีแดง นอกจากนี้เจ้าไอโอดสีเขียวก็ยังใช้พลังงานมากกว่าสีแดงอีกด้วย ทำให้เพื่อนๆ ต้องใช้แบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือไม่ก็ต้องหาแบตเตอรี่มาสำรองเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ปัจจุบันความต้องการเครื่องวัดระยะ, เครื่องวัดระดับ ในตลาดโลกจะเอียงไปทางเลเซอร์สีเขียว เพราะต้นทุนการผลิตไดโอดสีเขียวมีราคาลดลง แต่เลเซอร์สีแดงก็ยังขายควบคู่ไปด้วย ขึ้นอยู่กับเพื่อนๆ ว่าจะนำไปใช้งานประเภทไหนเป็นหลัก หากเพื่อนๆ เน้นงานภายในอาคาร วัดห้อง ออกแบบภายใน เครื่องวัดระยะ, เครื่องวัดระดับ ที่ใช้เลเซอร์สีแดง ก็เพียงพอต่อการใช้งาน แต่ถ้าต้องทำงานนอกอาคารบ่อยๆ ออกไปเจอแดดแรงๆ หรือใช้ในระยะไกล แนะนำให้ใช้เลเซอร์สีเขียวจะครอบคลุมการใช้งานมากกว่า
เพื่อนๆ อาจจะมีคำถามว่า แล้วถ้าเกิดเป็นตาบอดสีล่ะ ควรเลือกใช้เลเซอร์สีเขียวหรือเลเซอร์สีแดงดี
Hardman ขอแนะนำว่า ถ้าตาบอดสีเขียวก็ใช้สีแดง แต่ถ้าตาบอดสีแดงก็ใช้สีเขียว ซึ่งทาง Hardman มีจำหน่ายทั้ง 2 สี หลายยี่ห้อ หลายขนาด ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน สามารถเข้ามาดูและลองใช้งานที่หน้าร้านได้เลย