แชร์

สว่านไฟฟ้า มีกี่แบบ ? อะไรคือ Power Tools ? อ่านจบ หายงง

อัพเดทล่าสุด: 31 ต.ค. 2023
8296 ผู้เข้าชม

สว่านไฟฟ้ามีตั้งหลายแบบ งง ไม่เข้าใจ เลือกไม่ถูก
จะหามาใช้ทั้งทีควรซื้อแบบไหนดี Hardman101 จัดให้
เล่าง่ายๆ เคลียร์ๆ อ่านจบทั้งหมดนี้ หายงง!

เพื่อนๆ คนไหนมีเวลาน้อย Hardman ยกท่อนสรุปสั้นมาให้อ่านก่อนเลย
ส่วนใครอยากรู้รายละเอียดเกร็ดความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้
ค่อยๆ อ่านไปจนถึงบรรทัดสุดท้ายเลยนะ

สรุปสั้น 
สว่าน (Drill) คือ เครื่องมือที่ใช้เจาะรูด้วยการหมุน โดยเราจะรวมการไขเข้าไปด้วย
แบ่งจากลักษณะของหัวจับดอก (Chuck) จะได้ 3 แบบ
1.แบบดอกสว่าน (Drill Chuck) เหมาะสำหรับการเจาะ
2.แบบหกเหลี่ยม (Hex Chuck) เหมาะสำหรับการไข
3.แบบประแจบล็อก (Wrench Chuck) เหมาะสำหรับการไขบล็อก

แบ่งตามประเภทของแหล่งพลังงาน
1.แบบใช้ไฟบ้าน หรือแบบมีสาย (Corded Drill) ใช้งานได้ต่อเนื่อง ยาวนาน
2.แบบใช้แบตเตอรี่ หรือแบบไร้สาย (Cordless Drill) สะดวก คล่องตัว ได้รับความนิยมสูง

แบ่งสว่านตามฟังก์ชันการใช้งาน จะมีด้วยกันทั้งหมด 4 แบบ
1.การเจาะ (Drill) ใช้เจาะไม้, เหล็ก, ปูน ด้วยแรงหมุน
2.การไข (Driver) ใช้ไขหรือขัน น็อตและสกรูต่างๆ ด้วยแรงหมุน
3.การกระแทก (Impact / Hammer) ใช้ทุบหรือกระแทก  อิฐ หิน ปูน ด้วยแรงกระแทก
4.การสกัด (Rotary Hammer) ใช้เจาะสกัดปูนหรือพื้นผิวต่างๆ ด้วยแรงกระแทก+แรงหมุน

ความพิเศษของการกระแทก คือ มันไปเป็นฟังก์ชันเสริมของการไขและการเจาะ
ทำให้ไขได้แน่นขึ้น และเจาะได้แรงขึ้น
ว่าแต่..ทำไมการกระแทกต้องมีทั้ง Impact และ Hammer ล่ะ
อยากบอกนะ แต่ถ้าบอกตอนนี้มันจะไม่เป็นสรุปสั้นน่ะสิ

คำถามที่ Hardman เจอบ่อยๆ คือ
ถ้าที่บ้านไม่มีเครื่องมืออะไรเลย แต่อยากซื้อเครื่องมือติดบ้านไว้สักเครื่อง ซื้ออะไรดี
คำตอบ คือ สว่าน ให้เริ่มต้นที่สว่านก่อน เพราะสามารถใช้งานเล็กๆ ได้ครอบคลุม
ทั้งเจาะ ทั้งไข ทั้งเอาไปตีคาราเมล เนื่องจากหัวจับดอก มันต่อยอดไปใช้กับหัวแบบต่างๆ ได้หลากหลาย
รวมไปถึงงาน DIY ต่างๆ ก็สามารถเริ่มต้นได้ด้วยสว่านเพียงตัวเดียว

ที่ Hardman.co.th ก็เป็นร้านค้าออนไลน์ที่มีสว่านทุกแบบให้เพื่อนๆ เลือกซื้อ
รวมไปถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้ง Shopee, Lazada, Facebook, Instagram, Line@
แต่ถ้าอยากแวะมาหากัน Hardman Thailand มีหน้าร้านอยู่ถนนรัชดา - พระราม 3
เปิดวันจันทร์ - เสาร์ เวลา 8.30 น. – 17.30 น. หยุดทุกวันอาทิตย์
ปักหมุด “Hardman Thailand” ใน Google Map แล้วแวะมาหากันนะ :)

เอาล่ะ คิดว่าทุกคนน่าจะพอเห็นภาพกว้างๆ ของสว่านไปแล้ว
คราวนี้ Hardman จะพาไปเจาะลึกกันว่าสว่านที่เราใช้ๆ กัน มันเป็นมายังไง
อุปกรณ์ช่างที่ใช้ทุ่นแรงกันในปัจจุบัน เรียกว่า พาวเวอร์ทูลส์ (Power Tools) 
มันต่อยอดมาจากแฮนด์ทูลส์ (Hand Tools)  โดยการใส่ระบบไฟฟ้าและมอเตอร์เข้าไป
ทำให้เครื่องมือมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีพลัง (Power) มากขึ้น

ประวัติศาสตร์ของพาวเวอร์ ทูลส์ (Power Tools) 

Hardman ขอเริ่มด้วยการเล่าถึง การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution / IR)
ซึ่งโลกของเราผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว 3 ครั้ง และขณะนี้เราอยู่ในครั้งที่ 4
หรือที่อาจจะเคยได้ยินในข่าวว่า “อุตสาหกรรม 4.0”

IR 1.0  – ช่วงปี ค.ศ. 1784 มีการคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำ การใช้พลังงานจากถ่านหิน และโลกก็พลิกโฉมจากเกษตรกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรม มีการใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคนและสัตว์ สิ่งประดิษฐ์ประจำ IR 1.0 เช่น เครื่องจักรทอผ้า, รถไฟหัวจักรไอน้ำ เป็นต้น

IR 2.0  - ช่วงปี ค.ศ. 1870 เกิดระบบไฟฟ้าขึ้นมาใช้เป็นพลังงานหลัก โรงงานอุตสาหกรรมเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินมาเป็นไฟฟ้า เกิดสิ่งที่เรียกว่า Mass Production คือ การผลิตสินค้าที่เหมือนกันทีละมากๆ หรือระบบสายพาน (Assembly Line) นั่นเอง

IR 3.0  - ช่วงปี ค.ศ. 1969 มีคอมพิวเตอร์เครื่องแรกเกิดขึ้น รวมไปถึงระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation) โรงงานอุตสาหกรรมนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาอยู่ในส่วนของการผลิต พัฒนาระบบสายพานให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นแบบก้าวกระโดด

IR 4.0  – ช่วงปัจจุบัน โดยเริ่มจากการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) นำไปสู่ระบบไซเบอร์-กายภาพ (Cyber-Physical Systems / CPS) ที่ผสมผสานโลกอินเทอร์เน็ตกับโลกความเป็นจริง เกิดการถ่ายโอนข้อมูล (Big Data) ที่กว้างและรวดเร็ว

Power Tools เริ่มต้นในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2 (The Second Industrial Revolution) ซึ่งต่อเนื่องมาจากการพัฒนาระบบไฟฟ้า แต่เดิมในการทำงานคราฟต์ ซ่อมแซมอุปกรณ์ สร้างบ้าน และอื่นๆ มนุษย์เราจะใช้เครื่องมือแบบแฮนด์ทูลส์ (Handtools) เช่น สิ่ว ค้อน ลูกดิ่ง ขวาน เลื่อย และสว่านมือ เป็นต้น พอมีระบบไฟฟ้าเกิดขึ้นก็มีคนนำไปต่อยอดโดยการเปลี่ยนแฮนด์ทูลส์ ธรรมดาๆ ให้มีพลังมากขึ้นด้วยไฟฟ้า

Hardman ขอไล่ไทม์ไลน์แบบง่ายๆ เกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพาวเวอร์ทูลส์ (Power Tools) แบบนี้

ค.ศ. 1889 - อาร์เธอร์ เจมส์ อาร์นอต (Arthur James Arnot) วิศวกรไฟฟ้าชาวสกอตแลนด์ได้จดสิทธิบัตร (Patent) สว่านไฟฟ้า (Electric Drill)เครื่องแรกของโลก ร่วมกับวิลเลียม แบลนช์ เบรนด์ (William Blanch Brain) โดยทำการจดสิทธิบัตรหลังจากที่อาร์เธอร์ อาร์นอต ได้ย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่ออสเตรเลีย จากนั้นเขาได้สร้างโรงไฟฟ้าสเปนเซอร์สตรีท (Spencer Street Power Station) และเป็นผู้วางระบบไฟส่องสว่างที่ถนนสเปนเซอร์ด้วย

ค.ศ. 1895 – วิลเฮล์ม เอมิล ไฟน์ (Wilhelm Emil Fein) วิศวกรไฟฟ้าและนักประดิษฐ์ชาวเยอรมันได้ออกแบบสว่านไฟฟ้าแบบพกพา (Hand-held Electric Drill) เครื่องแรกของโลก หลังจากที่ได้ร่วมมือกับน้องชายของเขา - คาร์ล ไฟน์  (Carl Fein) เปิดบริษัท ซีแอนอี ไฟน์ (C&E Fein) เพื่อจำหน่ายเครื่องมือช่างมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1867 และยังดำเนินกิจการมาถึงปัจจุบันภายใต้แบรนด์ไฟน์ (Fein)

ค.ศ. 1917 แบล็คแอนด์เดคเกอร์ (Black & Decker) ได้พลิกโฉมวงการพาวเวอร์ทูลส์ด้วยการจดสิทธิบัตรสว่านไฟฟ้ารูปแบบใหม่ (Modern Drill) ลักษณะด้ามจับเป็นแบบปืนพก (Pistol) และบริเวณไกเป็นทริกเกอร์ (Trigger) ควบคุมการทำงานของสว่าน จนกลายเป็นดีไซน์ (Design) มาตรฐานของสว่านไฟฟ้าในปัจจุบัน

ค.ศ. 1932 บอสช์ (Bosch) ได้เปิดตัวสว่านกระแทก (Hammer Drill) รุ่นแรกของโลก ที่งานแสดงสินค้าไลป์ซิกแฟร์ (Leipzig Trade Fair 1932) ซึ่งต่อมาก็รู้จักกันในชื่อ บอสช์แฮมเมอร์ (Bosch Hammer) นอกจากจะเป็นสว่านเจาะแล้วยังเพิ่มฟังก์ชันกระแทกเข้าไป ทำให้เจาะปูน เจาะคอนกรีตได้ดีมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ไซต์งานก่อสร้างจะขาดไปไม่ได้

ค.ศ. 1961 แบล็คแอนด์เดคเกอร์ (Black & Decker) ได้สร้างนวัตกรรมใหม่อีกครั้งด้วยการผลิต สว่านไฟฟ้าไร้สาย (Cordless Drill) โดยใช้แบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมี่ยม (NiCd) เป็นแหล่งพลังงาน แต่กลับมีผู้ใช้จำกัดมากๆ และไม่ได้วางจำหน่ายในตลาด

ค.ศ. 1978 มากีต้า (Makita) เป็นบริษัทแรกที่นำสว่านไร้สายลงสู่ตลาด โดยรุ่นที่จัดจำหน่ายคือ Makita 6010D ใช้แบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมี่ยม (NiCd) 7.2V ได้รับความนิยมจากผู้คนในวงการก่อสร้างและประชาชนทั่วไป

นี่เป็นไทม์ไลน์ของพาวเวอร์ทูลส์แบบกระชับ เพื่อนๆ จะเห็นว่าพัฒนาการของมันเพิ่งมีมา 134 ปีนับจากสิทธิบัตรฉบับแรกของอาเธอร์ อาร์นอต

สว่านไฟฟ้า ตัวจุดประกายสู่ Power Tools 

ในช่วงแรกมันถูกใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองเป็นหลัก นำไปเจาะหิน เจาะแร่ ก่อนจะต่อยอดไปสู่งานเหล็กและงานไม้ ทั้งการเจาะ ตัด ขัด เจียร ขัน เซาะ ดูด เป่า เป็นต้น เกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เช่น เลื่อยไฟฟ้า แปรงขัดทำความสะอาดไร้สาย เครื่องเจียรไฟฟ้า สว่านไขควง เครื่องเซาะร่องไม้ เครื่องดูดฝุ่น และเครื่องเป่าลม (Blower) เป็นต้น

พาวเวอร์ทูลส์ (Power Tools) จึงเป็นอุปกรณ์ช่างที่มีการนำระบบไฟฟ้าหรือพลังงานอื่น แทนการใช้พลังงานจากคนและสัตว์ 

หลายคนอาจจะคิดว่าพาวเวอร์ทูลส์ก็คงมีแต่พวกช่างนั่นแหละที่ต้องใช้ แต่ Hardman เชื่อว่าเพื่อนๆหลายคนก็มีพาวเวอร์ทูลส์ติดบ้านไว้ อย่างน้อยๆก็ 1 ชิ้น อาจจะเป็นแปรงขัดอเนกประสงค์, เครื่องดูดฝุ่น, ปืนยิงกาวร้อน หรือแม้แต่ที่สูบลมอัตโนมัติ

สว่านไขควง (Driver) และ สว่านบล็อก (Wrench) 

ในส่วนของสว่านไฟฟ้า (Electric Drill) ที่มีหัวจับดอกแบบดอกสว่าน (Drill Chuck) ถูกพัฒนาเพิ่มเติมฟังก์ชันทั้งการกระแทกและการสกัด (Hammer Drill / Rotary Hammer Drill) จากนั้นมีการนำไปพัฒนาฟังก์ชันการไขและขันโดยเฉพาะ จนเกิดเป็นพาวเวอร์ทูลส์ใหม่ 2 ชนิด คือ สว่านไขควง/ไขควงไฟฟ้า (Driver) หัวจับดอกแบบหกเหลี่ยม (Hex Chuck) และสว่านบล็อก/บล็อกไฟฟ้า (Wrench) หัวจับดอกแบบประแจบล็อก (Wrench Chuck)

สว่านไขควง/ไขควงไฟฟ้า (Driver)  หัวจับดอกแบบหกเหลี่ยม (Hex Chuck) มีขนาดมาตรฐานอยู่ที่ ¼ นิ้ว (2หุน) แม้จะถูกออกแบบมาสำหรับการไขและการขัน แต่ก็สามารถใช้หัวดอกสว่านแบบก้านหกเหลี่ยม (Drill Hex Bit) เพื่อใช้เจาะชิ้นงานได้ แต่พลังในการเจาะจะสู้สว่าน (Drill) ไม่ได้

สว่านบล็อก/บล็อกไฟฟ้า (Wrench) หัวจับดอกแบบประแจบล็อก (Wrench Chuck) มีขนาดที่นิยมคือ ½ นิ้ว (4 หุน) สามารถพบได้บ่อยตามอู่ซ่อมรถ ใช้สำหรับถอดล้อรถและคลายบล็อก ยึดบล็อกต่างๆ โดยสว่านบล็อกนี้ก็สามารถใช้อแดปเตอร์แปลงหัวจับเป็นแบบดอกสว่าน (Drill Chuck)  เพื่อใช้เจาะชิ้นงานได้ แต่ก็ไม่ต่างกับสว่านไขควง คือ ทั้งคู่นี้เจาะสู้สว่านจริงๆ ไม่ได้

สว่านทั้ง 2 แบบนี้ มีฟังก์ชันพิเศษที่ใส่เข้าไปเรียกว่า การกระแทก (Impact) จะเรียกว่า สว่านไขควงกระแทก หรือ ไขควงกระแทก (Impact Driver) และ สว่านบล็อกกระแทก หรือ บล็อกกระแทก (Impact Wrench)

เพื่อนๆ ลองนึกภาพว่าเรากำลังขันน็อตด้วยประแจ พอขันจนตึงมือแล้ว เรารู้สึกว่ามันยังขันแน่นได้อีก แต่แรงเราไม่พอแล้ว สิ่งที่เราจะทำก็คือ ไปเอาค้อนมาตอกประแจเพื่อให้มันขันต่อได้ แรงตรงส่วนนี้เราจะเรียกว่า แรงบิด (Torque)

กระแทกแบบ Impact และ กระแทกแบบ Hammer 

เอาล่ะ หลังจากนี้จะเริ่มงงละ เพราะมันจะมีศัพท์บางคำ เช่น การกระแทก ในภาษาอังกฤษจะใช้คำแทน คือ Hammer กับ Impact

หรืออีกอย่างคือ สว่านกระแทก (Hammer Drill) กับ สว่านโรตารี (Rotary Hammer Drill) มันแตกต่างกันยังไง Hardman จะค่อยๆ เล่านะ

หลักการง่ายๆ ของสว่าน  คือ การหมุนเพื่อเจาะรู รวมไปถึงการไขและการขันด้วย เพราะใช้การหมุนเช่นเดียวกัน โดยจะมีหน่วยวัดความเร็วของการหมุนคือ รอบต่อนาที (Revolutions Per Minute / RPM)

เวลาเจาะพื้นผิวที่แข็ง ลำพังแค่แรงจากการหมุนเพียงแรงเดียวมันไม่พอ จึงจำเป็นต้องมีการเสริมอีกแรงเข้ามา ซึ่งเราเรียกแรงนี้ว่า แรงกระแทก (Hammer / Impact) ใช้หน่วยวัดแรงบิดคือ นิวตันเมตร (Newton meter / Nm)

เพื่อนๆ ลองนึกภาพเวลาเราเจาะไม้กับเจาะปูนดูสิ ไม้เนี่ยเนื้อมันอ่อนกว่าปูน เราอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้การกระแทก แต่สำหรับการเจาะปูนนั้น ถ้าไม่มีโหมดกระแทกมาล่ะก็ รับรองว่ามือเพื่อนๆต้องสะท้านสะเทือน อาจจะเจาะไม่เข้าหรือดอกสว่านอาจจะพังเลยก็ได้

หรือเวลาที่เพื่อนๆ อยากขันน็อตให้แน่นๆ ก็ต้องพึ่งฟังก์ชันการกระแทก เพื่อกวดขันให้น็อตมันแน่นขึ้น

แล้ว Hammer กับ Impact แตกต่างกันอย่างไร ในเมื่อมันหมายถึงการกระแทกเหมือนกัน

Hammer จะให้แรงกระแทกคนละทิศทางกับการหมุน มันจะกระแทกเหมือนเอาค้อนมาตอกดอกสว่านให้เจาะลงไปในเนื้องาน

Impact จะให้แรงกระแทกทิศทางเดียวกับการหมุน เป็นการเพิ่มแรงให้น็อตสามารถหมุนบิดลงไปในเนื้องานได้ดีขึ้น (แรงบิดดีขึ้น)

แรงกระแทกของ Hammer และ Impact จะเกิดจากการขับของชุดเฟืองที่อยู่ในสว่าน แต่มันก็มีข้อจำกัดเรื่องแรงกระแทก จึงมีสว่านอีกชนิดหนึ่งขึ้นมา คือ สว่านโรตารี่

Wrap Up 
Hammer ใช้กับสว่าน เรียกว่า Hammer Drill หรือ สว่านกระแทก
Impact ใช้กับไขควง เรียกว่า Impact Driver หรือ ไขควงกระแทก
Impact ใช้กับบล็อก เรียกว่า Impact Wrench หรือ บล็อกกระแทก

สว่านโรตารี่ (Rotary Hammer Drill) 

สว่านโรตารี่ หรือ Rotary Hammer Drill เป็นสว่านกระแทกเหมือนกับ Hammer Drill แต่ที่พิเศษกว่าคือระบบ Rotary ที่ใส่เข้ามา

มันช่วยเพิ่มแรงกระแทกในการเจาะ โดยการใช้เฟืองไปขับลูกสูบให้มากระแทกท้ายดอกสว่าน เหมือนตอกด้วยค้อนที่มีขนาดใหญ่กว่า Hammer Drill

และบางรุ่นยังมีโหมดสกัด เพิ่มขึ้นมาด้วย เพื่อใช้เจาะทำลายปูน คอนกรีต ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น นั่นทำให้สว่านโรตารี่มีขนาดที่ใหญ่กว่า น้ำหนักมากกว่า และใช้พลังงานมากกว่าสว่านกระแทก

เลือกสว่านแบบไหน ให้ดูที่ความต้องการ

ถ้าใช้งานหนัก ใช้โหดต่อเนื่อง หรือต้องการกระแทกที่รุนแรง ไปสว่านโรตารี่จบกว่า
นอกเหนือจากนั้นใช้สว่านกระแทกก็เพียงพอ

เอาเข้าจริงช่างหลายคนก็มีทั้งสว่านโรตารีและสว่านกระแทกไว้ทั้งคู่นั่นแหละ เพราะงานบางอย่างที่ต้องการความคล่องตัว สว่านโรตารีอาจจะไม่ตอบโจทย์

เพื่อนๆ ที่ต้องการมีติดบ้านไว้ใช้งานง่ายๆ  เช่น เจาะผนังเพื่อแขวนนาฬิกาหรือทีวี ประกอบเฟอร์นิเจอร์ เจาะรูท่อ แนะนำให้เลือกสว่านมาใช้งาน จะมีฟังก์ชันกระแทกหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับงบประมาณ เพราะมันครอบคลุมงานทั่วไปภายในบ้าน แม้กระทั่งการตีครีม ตีคาราเมล ยังสามารถนำตะกร้อด้ามยาวมาติดเข้ากับสว่านใช้งานได้จริง

หรือถ้าคิดว่าจะลองทำงาน DIY แบบจริงจังขึ้นมาหน่อย ก็สามารถซื้อ สว่านพร้อมกับไขควงเป็นเซ็ตเลยก็ได้ หลายๆแบรนด์มีเซ็ตคอมโบวางขายอยู่แล้ว ส่วนสว่านบล็อกนั้นจะค่อนข้างเฉพาะทางมากขึ้นไปอีก โดยมากจะใช้ขันและคลายน็อตขนาดใหญ่หรือบล็อก ที่อยู่ในเครื่องจักรขนาดใหญ่ หรือล้อรถยนต์

Hardman คิดว่าบทความคาบที่ 2 นี้ น่าจะไขข้อข้องใจของเพื่อนๆ ได้ ถ้ามีข้อสงสัยตรงไหนทักมาคุยกับ Hardman ได้ในแชทของเวบไซต์ และทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ Facebook, IG, Line, Line@, Tiktok, Shopee, Lazada เพียงแค่ค้นหาคำว่า Hardman Thailand เท่านั้น
เจอกันคาบต่อไป สวัสดี :)


บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ